ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่พุ่งทะยานขึ้นอย่างผิดตาในปีนี้ โดยเฉพาะราคาข้าวและข้าวสาลีแพงขึ้น 2 เท่าตัว เฉพาะข้าวรายการเดียวราคาพุ่งในสัปดาห์เดียวถึง 30%
แยกย่อยลงมาพบว่า ราคาข้าวเปลือกพุ่งขึ้น 2.7% มาปิดที่ 20.20 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ หรือปรับตัวสูงขึ้น 77% เมื่อเทียบกับตุลาคมปีกลายที่เคยมีราคาซื้อขายที่ 11.40 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ ขณะที่ราคาข้าวโพดในตลาดชิคาโกปรับตัวขึ้น 4.25 เซนต์แตะระดับ 6.025 ดอลลาร์ต่อ 25 กิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) เป็นครั้งแรกก่อนปรับตัวมาปิดตลาดที่ 6 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าราคาของเดือนตุลาคมปีกลาย 75%
ราคาข้าวโพดทำสถิติสูงสุดท่ามกลางความต้องการ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อทำอาหารสัตว์และผลิตไบโอดีเซล และ การคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตจากสหรัฐ ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ของโลกจะลดลงหลังจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐเปิดข้อมูลว่า ปีนี้ชาวไร่จะปลูกข้าวโพดประมาณ 86 ล้านเอเคอร์ ลดลงจากปีกลาย 8%
ด้านราคาถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 14 เซนต์ เป็น 12.57 ดอลลาร์ต่อ 25 กิโลกรัม ขณะที่ราคาข้าวสาลีปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 9.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากราคาเดือนตุลาคม 25% ทั้งนี้ราคาข้าวสาลีเคยทำสถิติสูงสุดที่ 12.80 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าเดือนตุลาคม 71%
เมื่อเร็วๆ นี้รายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกระบุว่า เพียง 2 เดือนแรกของปี 2551 ราคาน้ำมันพืชและน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารพุ่งขึ้น 21% และ 15% ตามลำดับ ขณะที่ราคา โลหะเพิ่มขึ้น 27% โดยเฉพาะแร่เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว อะลูมิเนียม และโลหะมีค่า
สาเหตุสำคัญของราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งทะยานหลายเท่าตัว นอกจากจะมาจากการแย่งพื้นที่เพาะปลูกเพื่อผลิตพืชให้น้ำมันรับกระแสพลังงานทางเลือกอย่างไบโอดีเซลแล�ว ยังมาจากสภาพอากาศ ที่แปรปรวน อาทิ วิกฤตภัยแล้งในออสเตรเลีย และภัยพิบัติในหลายประเทศที่เป็นแหล่งเพาะปลูกผลิตการเกษตรสำคัญๆ โดยเฉพาะข้าว
เช่น วิกฤตน้ำท่วมในเวียดนาม ขณะที่พายุหิมะในจีน และประเทศในเอเชียใต้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารจนจีนต้อง สั่งนำเข้าข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ ลอตใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของประชากร ส่วนอินเดีย บังกลาเทศ และปากีสถาน สั่งระงับการส่งออกเพื่อบรรเทาปัญหาในประเทศ ทั้งการขาดแคลนและราคาสินค้าแพง
ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ต้องระดมมาตรการเพื่อรับมือกับ สถานการณ์ที่เชื่อว่าจะเป็นวิกฤตอาหารของโลกในระยะสั้น ดังกรณีของทางการซาอุดีอาระเบียที่เพิ่งประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าอาหารหลายชนิดในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ ลดภาษีนำเข้า ข้าวสาลีเหลือ 0% จากเดิม 25% รวมถึงลดภาษีนำเข้าสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันพืช
ขณะที่ในอาร์เจนตินา ชาวนาจำนวนมากออกมาประท้วง รัฐบาลของประธานาธิบดี คริสตินา เฟอร์นานเดซ ให้กระจาย ผลประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเพิ่มภาษีส่งออกถั่วเหลืองและพืชผลอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ความวิตกของสถาบันเสาหลักของโลก ไม่ได้หยุดอยู่แค่วิกฤตราคาและภาวะขาดแคลน แต่ยังมองเลยไปถึงผลกระทบข้างเคียงจากสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการคุกคามของภาวะเงินเฟ้อดังกรณีในฟิลิปปินส์ที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 21 ปี ที่ 6.4% ขณะที่เงินเฟ้อจีนทะยานถึง 8.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ สูงสุดในรอบ 11 ปี และอินเดียอยู่ที่ 6.8% สูงสุดในรอบ 13 เดือน
ผลกระทบยังขยายวงถึงภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งประเมินว่า ราคาอาหารตลอดจนราคาน้ำมัน และโลหะที่แพงลิ่วจะส่งผลให้หลายประเทศในเอเชียสูญเสียรายได้ประมาณ 1% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยกตัวอย่างความเสียหายทางเศรษฐกิจของจีน ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินีคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี
ธนาคารโลกเตือนว่า วิกฤตราคาสินค้าเกษตรและน้ำมัน กำลังเป็นปัญหาท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลในเอเชียตะวันออก มากกว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐ และอัตราการเติบโต ที่ชะลอลงทั่วโลก
อีกทั้งคาดว่าวิกฤตราคาและการขาดแคลนอาหารกำลังขึ้นมาเป็นวาระร้อนของการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ร่วมกับธนาคารโลกในวอชิงตัน สัปดาห์นี้หากพิจารณา จากคำกล่าวของนายโรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก ที่ตั้ง ข้อสังเกตว่า วิกฤตอาหารโลกกำลังได้รับความสนใจจากบรรดานักการเมืองในทุกประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้นานาประเทศโดยเฉพาะชาติร่ำรวยอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ประสานความร่วมมือเพื่อรับมือวิกฤตอาหาร และภาวะขาดแคลน ที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่วโลกในขณะนี้
ในอีกด้านหนึ่ง องค์การสหประชาชาติระบุว่า สถานการณ์ ดังกล่าวอาจทำให้ 36 ประเทศทั่วโลก รวมถึงจีนและประเทศในแถบแอฟริกา เผชิญวิกฤตอาหารในปีนี้เนื่องจากสต๊อกพืชพันธุ์ธัญญาหารหลายชนิด อาทิ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลืองลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีทั่วโลก
รวมถึงในประเทศผู้ผลิตรายสำคัญอย่างสหรัฐและออสเตรเลีย ขณะที่ธนาคารโลกเตือนว่า อาจเกิดความไม่สงบในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการประท้วงครั้งใหญ่ใน 33 ประเทศทั่วโลก ดังที่ปรากฏขึ้นแล้วในอาร์เจนตินา และฟิลิปปินส์
เหนืออื่นใด นักวิชาการบางรายเริ่มวิตกว่า ผลพวงของวิกฤตขาดแคลนอาหารเป็นชนวนให้เกิดกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ในลักษณะที่บางรัฐบาลกำลังพยายายามสร้างอุปสรรคทางการค้า โดยมีแรงผลักดันมาจากการเมือง เนื่องจาก ภาวะขาดแคลนกำลังเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงในหลายประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตร สั่งระงับการส่งออกชั่วคราว เพื่อ ลดผลกระทบในด้านราคา ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าสั่งลดภาษี สินค้าเกษตร เจรจาโดยตรงกับรัฐบาลประเทศผู้ผลิต เพื่อขอซื้อโดยตรง ป้องกันไม่เกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งจะยิ่งทำให้การประท้วงใน ประเทศรุนแรงขึ้น
ดังกรณีที่ประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโย ร้องขอไปยังนายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นการส่วนตัว ให้รับปากจัดหาข้าวให้แก่ฟิลิปปินส์ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหาร และหากการนำเข้าหยุดชะงัก หรือ ขาดแคลน ราคาในประเทศจะวิ่งขึ้นไปอีก และยากจะหยุดการประท้วงไม่ให้ขยายวง
หรืออีกกรณีหนึ่ง การที่สหรัฐประกาศผลักดันในเรื่องเอทานอล ส่งผลให้มีการนำข้าวโพด 15 ล้านตันมาผลิตพลังงานทางเลือก ชนิดนี้ในปี 2543 ก่อนจะเพิ่มปริมาณเป็น 85 ล้านตันในปี 2550 ส่งผลให้ข้าวโพดในตลาดโลกขาดแคลนอย่างรวดเร็ว กระทบโดยตรงต่อประเทศใกล้เคียงคือ เม็กซิโก ที่บริโภคสินค้าเกษตรชนิดนี้ เป็นชนวนประท้วงใหญ่เมื่อปีที่แล้ว
ประชาชาติ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
ตอบลบขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล
ตอบลบ