ราคาข้าวพุ่ง หอมมะลิทะลุ 1,000 เหรียญสหรัฐ แค่ 1 สัปดาห์ราคาข้าวทุกชนิดพุ่งไม่ต่ำกว่า 150 เหรียญสหรัฐ คาดได้เห็นแน่ 1,200 เหรียญต่อตัน เฮดจ์ฟันด์ผสมโรงปั่นราคาข้าวโลก พ่อค้าท้องถิ่นไทยจับมือร้านทองกว้านซื้อข้าวเปลือกเก็บกักตุน รอราคาข้าวพุ่งสูงกว่านี้ จนเกิดปรากฏการณ์ข้าวนาปรังหายไปจากตลาด
ข้าวหอมมะลิ ชั้น 1 ฤดูกาลผลิตปี 2550/2551 ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยราคาที่ปรับตัวขึ้นถึง 1,009 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ราคาข้าวทะลุเกิน 1,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ภายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาข้าวขาว FOB ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 150 เหรียญสหรัฐ/ตัน ถือเป็นความ
ผันผวนชนิดที่คนในวงการค้าข้าวไม่เคยเจอกันมาก่อน
โดยสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ รายงานราคาส่งออกข้าว ณ วันที่ 2 เมษายน 2551 พบว่า ราคาข้าวหอมปทุมธานีปรับมาอยู่ที่ 930 เหรียญสหรัฐ/ตัน, ข้าว 100% ชั้น 1 อยู่ที่ 827 เหรียญสหรัฐ/ตัน, ข้าว 5% ตันละ 779 เหรียญสหรัฐ และ ข้าว 25% ขึ้นไปถึงตันละ 740 เหรียญสหรัฐ ผู้ค้าคาดราคาข้าวทะลุ 1,200 เหรียญ
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวได้ให้ภาพความผันผวนของราคาข้าวในขณะนี้ว่า แนวโน้มราคาที่ผู้ส่งออกมองขณะนี้คือ 1,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากผู้ผลิตข้าวทั้งเวียดนามและอินเดียยังห้ามส่งออก ขณะที่ข้าวนาปรังของไทยออกแล้ว แต่ไม่มีสินค้าในตลาด ประกอบกับฟิลิปปินส์กำลังเปิดประมูลข้าวในวันที่ 17 เมษายนนี้ ส่วนอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้เปิดประมูล แต่ต้องการซื้อข้าวเช่นกัน ได้แก่ อินโดนีเซียกับอิหร่าน
แม้ว่าราคาข้าวในขณะนี้จะถือว่าสูงแล้ว แต่ผู้ค้าข้าวมองไปถึงราคาประมูลฟิลิปปินส์ หากเปิดสูงขึ้นไปอีก แน่นอนว่าจะทำให้อินโดนีเซีย-อิรัก-อิหร่าน จำเป็นต้องซื้อข้าวในราคาที่สูงไปด้วย ทำให้เกิดการเก็งว่า ราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นอีก จากข้อมูลทั้งหมดส่งผลให้คนที่มีข้าวอยู่ในมือไม่ยอมขายข้าวออกสู่ตลาด กลายเป็นแรงกดดันให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน
ทั้งนี้ในวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวทั้งระบบร่วมกับ 13 องค์กร อาทิ สมาคมชาวนาไทย, สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ, สมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เป็นต้น เพื่อรับฟังปัญหา กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้าวทั้งระบบ โดยจะยึดหลักความสมดุลของการบริโภคภายในประเทศและส่งออก
เปิดตัว "พ่อค้าท้องถิ่น" กักตุนข้าว
ปกติในช่วงเวลานี้ "ข้าวนาปรัง" จะเริ่มออกสู่ตลาด แต่ปรากฏว่า ผู้ส่งออกและ โรงสีหลายรายพยายามรับซื้อข้าว แต่กลับไม่มีใครเอาข้าวมาขายให้ เช่นเดียวกับชาวนาที่ระบุว่า ขายข้าวไปหมดแล้ว ทำให้หลายคนสงสัยว่า "ข้าวหายไปไหน?" แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงสีระบุว่า กลุ่มพ่อค้าท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทในการรับซื้อข้าวอย่างผิดหูผิดตา โดยอาศัยการระดมทุนจากคนมีเงินในท้องถิ่น เช่น ร้านทอง เข้าไปกว้านซื้อข้าวเปลือกมาเก็บสต๊อกกักตุนไว้
"ในเวลาปกติ พ่อค้าท้องถิ่น ถือเป็นคนกลางระหว่างชาวนากับโรงสีอยู่แล้ว เมื่อซื้อข้าวมาจากชาวนาจะรีบนำมาขายให้กับโรงสี แต่ในช่วงนี้ คนกลุ่มนี้กลับเร่งระดมทุนรวมกลุ่มกันซื้อข้าวเปลือกไปเก็บสต๊อกไว้ และจำนวนของพ่อค้าท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมาก น่าจะมีจำนวนนับแสนรายมากกว่าโรงสีข้าว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10,000 ราย ทำให้ปริมาณข้าวนาปรังที่กำลังออกผลผลิตไม่ไหลออกสู่ตลาด" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการเก็บสต๊อกของกลุ่มพ่อค้าท้องถิ่นคือ การเก็บข้าว จำเป็นต้องใช้ไซโลและดูแลอย่างเหมาะสม แต่กลุ่มนี้ไม่มีความสามารถในการเก็บ แต่ต้องการเก็งกำไร ความจริงราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่เกวียนละ 16,000-17,000 บาท ข้าวขาวเกวียนละ 13,000-14,000 บาท น่าจะปล่อยของได้แล้ว ถ้านานไปข้าวอาจจะเสียหาย หรือราคาไม่ขึ้นสูงอย่างที่คิด และการระดมทุนมาอาจจะต้องเสียดอกเบี้ยสูง ถึงเวลาอาจจะเกิดปัญหาได้ หากราคาข้าวไม่ขึ้นไปสูงอย่างที่คาดการณ์ไว้
ผู้ส่งออกชี้เฮดจ์ฟันด์ปั่นราคาข้าว
ด้านผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่ในขณะนี้หยุดรับออร์เดอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมแล้ว เนื่องจากราคาข้าวผันผวนและไม่สามารถหาข้าวในท้องตลาดได้ ในส่วนของ สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ที่ได้ประชุมกันไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเห็นว่า รัฐบาลควรปล่อยให้ข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดและคาดว่าราคาข้าวจะลดความร้อนแรงลงในช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากข้าวไทยและข้าวเวียดนามเริ่มออกสู่ตลาด
ส่วนมาตรการส่งออกด้วยการกำหนดราคาขั้นต่ำ (maximum export price หรือ MEP) คงทำได้ยาก และอาจจะเกิดผลกระทบคนละด้านกับที่ต้องการ เมื่อไม่มีการประเมินผลกระทบจากการประกาศ MBP ที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นอย่างแรง หรือปรับลดลงอย่างแรงก็ได้ทั้ง 2 ทาง
ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความร้อนแรงของราคาข้าวในตลาดโลกขณะนี้เป็นผลมาจากการเก็งกำไรของเฮดจ์ฟันด์ต่างประเทศ และการกักตุนข้าวของโบรกเกอร์ข้าวต่างประเทศ ซึ่งได้เริ่มกระบวนการซื้อข้าวกักตุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 เพราะกลุ่มนี้จับกระแสราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้ จึงเริ่มทุ่มซื้อเพื่อเก็งกำไร ราคาปรับสูงขึ้นไปถึง 1-2 เท่า
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทยเห็นว่า ผู้ส่งออกควรแจ้งการรับออร์เดอร์กับกระทรวงพาณิชย์ พร้อมตรวจสอบให้ทราบปริมาณสต๊อกข้าวของผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงสี- ผู้ส่งออก รวมถึงปริมาณผลผลิตข้าว เพื่อทราบว่ามีปริมาณข้าวเท่าไหร่ นอกจากนี้รัฐบาลไม่ควรปั่นราคาข้าว เพราะการให้ข้อมูลเป็นสิ่งที่อ่อนไหวมาก
เช่น การประกาศว่าราคาข้าวสารจะพุ่งไป 5 เท่า ทำให้ราคาข้าวเท่ากับ 60,000 บาท เกิดปัญหาข้าวถุงปรับราคาเพิ่มขึ้นจาก 75 บาท เป็น 90-100 บาท จนกระทั่งราคาข้าวล่วงหน้าของไทยปรับ "สูงกว่า" ตลาดล่วงหน้าชิคาโกไป 70% เช่น ข้าวเปลือก ชิคาโกเท่ากับ 13,500 เหรียญ แต่เมื่อทอนกลับเป็นข้าวขาว 5% ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ปรับสูงขึ้นเป็น 18,000 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น
ประชาชาติ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น