*** วัณโรค... เชื้อเก่าที่กลับมาใหม่ !.!
***โรค..ที่จะกลับมาระบาดอีกครั้งอย่างไม่คาดคิด **
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่าน web blog ภัยพิบัติ ที่รักทุกท่าน
“อโรคยา ปรมาลาภา... ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” คำ ๆ นี้เป็นยอดปรารถนาของทุกคนนะคะ แต่ปัจจุบันมีโรคติดต่อโรคหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งเคยระบาด และถูกควบคุมได้โดยการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม แล้ววันหนึ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสภาพบรรยากาศอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง มีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น โรคเอดส์ และสภาพร่างกายของคนเราอ่อนแอลงจากการไม่ระมัดระวังเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ โรคระบาดโรคนี้ที่เคยสงบก็กลับมาเติบโตใหม่อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นมหันตภัยร้ายแรงอย่างหนึ่งของมนุษย์โลกทีเดียว...ค่ะ โรคที่กล่าวถึงนั้นก็คือ ..วัณโรค ...
เรามาทำความรู้จักกับวัณโรค และการป้องกันตัวเราเองและคนที่เรารักจากโรคนี้กันดีกว่านะคะ
วัณโรคคืออะไร?
วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่เล็กมาก มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอคูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) บางครั้งเรียกว่า เชื้อเอเอฟบี (AFB / AcidFast Bacilli) สามารถเกิดโรคที่อวัยวะใดในร่างกายก็ได้
...จำแนกเป็น วัณโรคปอด (Pulmonary TB) และวัณโรคนอกปอด (Extra-pulmonary TB) ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง
วัณโรค...ติดต่อกันอย่างไร?
วัณโรค..ติดต่อได้โดยการหายใจเอาละอองเสมหะขนาดเล็กที่มีเชื้อโรคอยู่ ในอากาศรอบ ๆ ตัวเข้าไปในปอด ละอองเสมหะเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีการไอ จาม หรือแม้แต่พูด ละอองเสมหะที่มีขนาดเล็กนี้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นวัน หากผู้ใกล้ชิดสูดหายใจเข้าไป เชื้อวัณโรคจะข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อแล้วบางคนก็ยังไม่ป่วยเป็นวัณโรคเลยทีเดียว แต่จะเป็นพาหะนำโรคแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้ เชื้อวัณโรคจะถูกทำลายได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดด และความร้อน ดังนั้นวัณโรคจึงมักแพร่ได้ง่ายในที่ร่มหรือบริเวณที่คับแคบ อากาศไหลเวียนได้น้อย เช่น ในบ้าน ในห้องแอร์ หรือในที่ชุมชนแออัด
ระยะฟักตัวของเชื้อวัณโรค
หลังจากได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกายแล้ว ในระยะแรกส่วนใหญ่จะไม่มีอาการและไม่สามารถตรวจพบได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 2 - 10 สัปดาห์ ร่างกายจะเริ่มมีปฏิกิริยาต่อเชื้อวัณโรค ซึ่งสามารถตรวจพบได้ด้วยการทดสอบทางปฏิกิริยาที่ผิวหนัง (Tuberculin skin test)
อาการที่สำคัญของวัณโรค มีอยู่ 3 อย่างคือ
1. ไอเรื้อรัง นานเกิน 2 สัปดาห์ ไอเจ็บหน้าอก หรือไอมีเลือดออก
2. มีไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่าย หรือค่ำ
3. อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การป้องกัน
1. คนที่สัมผัสโรค หรือผู้อยู่ใกล้ชิดในบ้านเดียวกับผู้ป่วยทุกคน ควรไปให้แพทย์ตรวจ อาจต้องกินยาป้องกันวัณโรค
2. ให้วัคซีน BCG ป้องกัน ในประเทศที่มีโรคชุกชุม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เริ่มให้ BCG ตั้งแต่แรกเกิด
3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาวัณโรค
การรักษาวัณโรค
* วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องและนานพอ สูตรยามาตรฐานที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลกจึงใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องใช้ยาหลายขนาน
* เชื้อวัณโรคสามารถพัฒนาจนดื้อยาได้ถ้าใช้ยาเพียงตัวเดียว และกินยาไม่ต่อเนื่อง
วัณโรคดื้อยาจึงเป็นปัญหาที่น่ากลัวมาก เพราะการรักษาให้หายขาดจะทำได้ยาก ใช้เวลานาน และยาที่ใช้ก็มีผลข้างเคียงมาก
แนวทางการรักษาวัณโรค
- ในปัจจุบัน ประชาชนสามารถเลือกรับบริการในสิ่งที่ดีที่สุดได้ หากท่านป่วยเป็นวัณโรค
- กินยาเองมีโอกาสหายเพียง 50 % เพราะพบว่าผู้ป่วยมักจะกินยาไม่สม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการักษา 6 เดือน และยังทำให้เชื้อดื้อยาอีกด้วย
- รักษาแบบหายแน่นอน ประกันการรักษา ในระยะเวลา 6 เดือน โดยเลือกได้ 3 แบบ
1. มากินยาที่สถานบริการทุกวันโดยมีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลการกินยาทุกครั้งและลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
2. กินยาโดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) พระหรือครูเป็นผู้กำกับดูแล
3. กินยาโดยมีญาติเป็นผู้กำกับดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยพร้อมทั้งดูแลการกลืนยาทุกวัน แล้วพยาบาลจะไปเยี่ยมดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติอีกครั้ง
ที่มา : http://www3.easywebtime.com/aids_tb/images/multi_supporter.GIF
สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย
- องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า มีผู้ป่วยวัณโลกทั่วโลก 16 - 20 ล้านคนและเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ
- มีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตปีละประมาณ 1.9 ล้านคน
- ส่วนประเทศไทยนั้น องค์การอนามัยโลกจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 17 ในกลุ่ม 22 ประเทศทั่วโลกที่ยังไม่สามารถควบคุมวัณโรคได้
- ประเทศไทย มีผู้ป่วยวัณโรคกว่า 91,000 ราย และกว่าครึ่งหนึ่งเป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้
- ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยเสียชีวิต ปีละ 2,100 ราย
- ผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 8,000 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 คน
- วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางอากาศ ถ้าไม่รับการรักษา ผู้ป่วยแต่ละรายจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ปีละ 10-15 คน
- ประชากรของโลก 2,000 ล้านคนของโลก (1ใน3 ของประชากรโลก ) ติดเชื้อวัณโรคแล้ว ( latent tuberculosis ) ในคนไทยผู้ใหญ่ร้อยละ 70 ติดเชื้อวัณโรคแล้ว
- 10% ของผู้ติดเชื้อ จะป่วยเป็นวัณโรค แต่ถ้าติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย จะเสี่ยงมากขึ้นอีกหลายเท่า
- วัณโรคเป็นโรคของคนยากจน พบมากในวัยหนุ่มสาว ผู้ป่วยที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ( ครึ่งหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย)
- วัณโรคเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปีละประมาณ 200,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอัฟริกา
- มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 9.2 ล้านคนในปี ค.ศ. 2006 และ ร้อยละ 95 อยู่ใน 22 ประเทศ กำลังพัฒนา
- วัณโรคดื้อยาหลายขนาน ( Multi-drug resistant TB : MDR TB ) รายใหม่ปีละ 450,000 ราย พบอัตราสูงสุดใน สหภาพโซเวียต และ ในประเทศจีน
- วัณโรคดื้อยารุนแรง ( Extensively drug resistant TB : XDR TB ) พบในหลายประเทศทั่วโลก
- คาดว่า 11 % ของผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
ข้อแนะนำ
1. วัณโรคไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หรือน่ารังเกียจ และเป็นโรคที่มีทางรักษาให้หายขาดได้โดยการกินยารักษา
2. ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค เช่น มีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ต่ำ ๆ ช่วงบ่ายหรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ควรไปให้แพทย์ตรวจร่างกาย ถ้าเป็นโรคนี้จะได้รักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เป็นการป้องกันมิให้โรคลุกลาม มิให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่อไป
3. คนที่ได้รับเชื้อวัณโรค หากร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคดี จะไม่ป่วยเป็นโรค ..ประเทศไทยในผู้ใหญ่เกือบทุกคน เคยได้รับเชื้อวัณโรคมาแล้ว แต่เชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายทรุดโทรม เชื้อก็จะกำเริบและกลายเป็นวัณโรคได้ โดยไม่ต้องได้รับเชื้อจากภายนอกมาใหม่
4. พวกเราทุกคนจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การละเว้นจากการสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด อย่าตรากตรำทำงานหนักเกินควร พักผ่อนให้เพียงพอ และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
วัณโรคและโรคเอดส์
* เป็นแนวร่วมร้ายแรงที่สามารถเพิ่มผลกระทบให้มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอดส์
* ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ จะมีผลกระทบต่อวัณโรค ทั้งในส่วนของการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นในด้านการรักษา ผู้ป่วยมักขาดยา กินยาไม่สม่ำเสมอ นำไปสู่การดื้อยา ทำให้มีอัตราการรักษาหายต่ำ
* ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ และป่วยเป็นวัณโรคร่วมด้วย พบอัตราตายสูง
* พบอัตราการกลับเป็นวัณโรคซ้ำมากขึ้น รวมทั้งนำเชื้อวัณโรคดื้อยาแพร่กระจายแก่ผู้อื่นได้ง่าย
วัณโรคดื้อยา
- เนื่องจากผู้ป่วยโรคเอดส์มีมากขึ้น และมีการติดเชื้อวัณโรคเพิ่มขึ้นผู้ป่วยส่วนหนึ่งขาดความเข้าใจและไม่ร่วมมือการรักษา รักษาไม่สม่ำเสมอ รับประทานยาไม่ครบทำให้เกิดวัณโรคดื้อต่อยาที่ใช้รักษา ทำให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวและตัวเอง วัณโรคดื้อยามีด้วยกันสองชนิดคือ
Multidrug-Resistant TB(MDR)
หมายถึง เชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาที่ดีที่สุด (ซึ่งเป็นยาชนิดแรกที่เลือกในการรักษาี่)อย่างน้อยสองชนิด (ได้แก่ INH,Rifampicin) ผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้จะรักษายากกว่าและต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่า
Extensively drug resistant TB (XDR TB)
หมายถึง เชื้อวัณโรคที่ต่อยา isoniazid , rifampin และยังดื้อต่อยาที่ใช้เป็นทางเลือกที่สอง เช่น fluoroquinolone , amikacin, kanamycin, capreomycin มักจะพบในผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ติดเชื้อวัณโรค
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวัณโรคดื้อยา
- ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
- ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบทุกชนิด เนื่องจากได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจาก ญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก หรืออาจจะเกิดจากการแพ้ยา ดังนั้นหากท่านจะลดหรือเลิกกินยาต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันวัณโรคดื้อยา
- เกิดวัณโรคซ้ำหลังการรักษาวัณโรคแล้ว
- ไปในแหล่งที่มีวัณโรคดื้อยา
- อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีวัณโรคดื้อยา
- ผู้ป่วยวัณโรคได้รับยาน้อยกว่า 6-12 เดือน ผู้ป่วยมักหยุดยาหลังจากได้ยา 2-4 สัปดาห์เนื่องจากสบายตัวขึ้นหรืออาจเกิดผลข้างเคียงของยา
- ผู้ป่วยได้รับยาน้อยเกินไป ขนาดยาที่ได้รับไม่พอ
- ผู้ป่วย เอดส์พบมากขึ้นทำให้มีวัณโรคมากขึ้น
*** ผู้ที่เป็นวัณโรคต้องรักษาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด หากเกิดผลข้างเคียงจากยาควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรหยุดยาด้วยตัวเอง ***
ที่มา : สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
: วิกิพีเดีย
: http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet4/june22/pub5.htm
:http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/infectious/Tuberculosis/mdr.htm
:http://www.voanews.com/thai/archive/2008-03-25-voa3.cfm
: เอกสารการอบรมโครงการควบคุมและป้องกันโรควัณโรคจังหวัดอุดรธานี ปี 2551 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี
เอกสารศึกษาเพิ่มเติม
http://www.who.int/tb/publications/global_report/en/index.html
ที่มารูปภาพ : www3.easywebtime.com/aids_tb/multi_surat_50.html
http://dl.glitter-graphics.net/pub/230/230091koj1pl7hvz.gif
# จุฬาฯ เจ๋งผลิตผ้าปิดจมูกฆ่าเชื้อวัณโรค
รศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล อาจารย์วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นจุฬาฯ ปี 2550 กล่าวว่า จากการต่อยอดงานวิจัยการศึกษาสารสกัดสมุนไพรจากเปลือกมังคุด ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ของ รศ.ดร.สุนิตย์ สุขสำราญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทีมงานวิจัยจุฬาฯ ได้ผลิตผ้าปิดจมูกเส้นใยนาโนเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุดขึ้น โดยเป็น 1 ใน 6 ผลงานวิจัยดีเด่นด้านสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง โดยใช้การปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิตย์
ผ้าปิดจมูกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่ผ้าปิดจมูกที่ได้พัฒนาขึ้นนั้น มีเส้นใยที่มีขนาดเล็กระดับนาโน นอกจากจะสามารถป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กได้แล้ว ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อวัณโรคได้ด้วย เนื่องจากเป็นผ้าปิดจมูกที่มีเส้นใยขนาดเล็กและรูระหว่างเส้นใยก็มีขนาดเล็กเช่นกัน จึงมีคุณสมบัติ ในการกรองเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ในขณะเดียวกันเชื้อโรคจะถูกฆ่าด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุดที่อยู่ในเส้นใย โดยสามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้ถึง 99.99 %
รศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอีกว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของเชื้อวัณโรค และสามารถฆ่าเชื้อวัณโรคที่มีการดื้อยาได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับการยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว และอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการเพื่อการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศต่อไป สำหรับแผนงานวิจัยในอนาคตจะศึกษาการทดสอบความคงทนของสารสกัดจากเปลือกมังคุดในผ้าปิดจมูก เพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ว่าเมื่อถูกแสงและได้รับความร้อนสูง จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านคุณสมบัติหรือไม่ และสามารถเก็บไว้ได้นานเท่าใด นอกจากนี้ยังมีแผนงานจะศึกษาสารสกัดจากสมุนไพรชนิดอื่นที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อวัณโรคได้มากขึ้นด้วย #..
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน . วันพุธ 10 กันยายน 2551. ฉบับที่ 5543 , หน้า 14 (ล่างขวา)
...ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีไปนาน ๆ .นะคะ..^_^..
สวัสดีค่ะ...
.........#..!..!..*_*...!.!..#..............
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น