วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

รับมือคลื่นยักษ์

ที่มา กระปุก.com



พายุนาร์กีส


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก seedang.com


สถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ปริมาณน้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่เกษตรกรรมเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก

ล่าสุด สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกาศเตือนภัย "ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก" ฉบับที่ 8 (313/2551) ลงวันที่ 13 สิงหาคม ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงยังคงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนตกชุกและมีฝนตกหนัก ในหลายพื้นที่ เช่น จ.เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1-2 วันนี้ (13-14 ส.ค.) ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงและตามลุ่มแม่น้ำสาขาต่างๆ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


พายุนาร์กีส



ขณะที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเสวนา "แผนรับมือวิบัติภัยน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น" หรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) ที่ศาลาประชาคมสมุทรปราการ ว่า จากการประเมินโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงอันตรายอย่างยิ่ง จากความเร็วของแรงลมที่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะส่งผลให้คลื่นสูงเฉลี่ย 2.2-4.5 เมตร ซึ่งภัยธรรมชาติครั้งนี้ประชาชนไม่สามารถละเลยได้ และรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบการเตือนภัย ระบบการป้องกัน มิให้น้ำเข้ามาในพื้นที่ในหลายๆ จังหวัด

"หากดำเนินการช้าจะมีผลกระทบต่อประชาชน และเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติมากมาย รัฐบาลจะรอช้าไม่ได้ หากเกิดขึ้นจริงความรุนแรงอาจจะเท่าพายุนาร์กีสก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิบัติภัยดังกล่าว จะแจ้งเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า" ดร.สมิทธกล่าว


พายุนาร์กีส



ด้าน นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านเกิดความสับสนและไม่เข้าใจในเรื่องสตอร์ม เซิร์จ ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมีมากน้อยเพียงใด และหากเกิดขึ้นจริงภาคราชการก็มีความพร้อมรับมือระดับหนึ่ง หลังการประชุมครั้งนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมและประชุมองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเตือนภัยมากยิ่งขึ้น

ด้าน ดร.มั่น พัธโนทัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เดินทางมาร่วมฟังการเสวนา และกล่าวว่า อยากให้ประชาชนชาวสมุทรปราการ อย่าเพิ่งไปตื่นตระหนก สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับทราบนั้น หากเกิดขึ้นก็จะเป็นการเตรียมความพร้อม แต่หากไม่มีเหตุการณ์ก็ถือว่าเป็นผลดี


พายุนาร์กีส



ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ภาคอีสาน และภาคเหนือนั้น นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงล้นตลิ่งในเขตพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และ อ.เชียงคาน จ.เลย ว่า คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงแม่น้ำโขงจะมีมากเกินระดับสูงสุดในช่วงกลางเดือนนี้ โดยเฉพาะในวันที่ 13 สิงหาคม เกินจากระดับตัวเลขสูงสุดในรอบ 30 ปี (พ.ศ.2521-2550) ราว 10-20 เซนติเมตร ในบางสถานี โดยเฉพาะที่ อ.เชียงแสน ปริมาณน้ำสูงสุด 10.49 เมตร และที่ อ.เชียงคาย 10.46 เมตร และไหลเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มริมตลิ่งสูงถึง 2 เมตร ในบางแห่งตั้งแต่ อ.เชียงแสน อ.เชียงคาน รวมทั้ง จ.มุกดาหาร และนครพนม

ด้าน นายกร ปิจดี หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ อ.เชียงแสน บ้านเรือนประชาชน 3,000 ครอบครัว และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 17 หมู่บ้าน ถนนสายเชียงแสน-เชียงของ ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 70 เซนติเมตร เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ที่ อ.เชียงของ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 1,000 หลังคา และพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 7,000 ไร่ ส่วนที่ อ.เวียงแก่น พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 6,000 ไร่ บ้านเรือน 21 หลังคาเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำถุงยังชีพและน้ำดื่มไปช่วยเหลือแล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาพถ่ายดาวเทียม